ในขณะนี้เกมออนไลน์กำลังเป็นที่สนใจของสังคมออนไลน์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็มุ่งให้ความสำคัญกับแนวโน้มของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเห็นได้จากกระทรวง ICT ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ที่ผ่านมา โดยได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางของมาตรการในการจัดการโดยมุ่งเน้นที่บริษัทผู้ประกอบการเกมออนไลน์ นั่นคือ บริษัท บีเอ็ม มีเดีย จำกัดและบริษัท เอเชียซอฟท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการเกม Ragnarok ในเมืองไทย และมุ่งเน้นที่ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ผ่านทางตัวแทนของผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ กล่าวคือ สมาพันธ์ผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตและชมรมผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย แต่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในโลกเกมคอมพิวเตอร์ก็คือ เนื้อหาของเกมที่ไม่เหมาะกับผู้เล่นและพฤติกรรมที่เกิดจากการเล่นเกม
เนื้อหาของเกมนั้นอาจส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยา เป็นผลกระทบเชิงซึมซับพฤติกรรมในเกมที่ผู้เล่นนั้นสวมบทบาทอยู่ ทำให้ผู้เล่นเกิดความคุ้นชินกับพฤติกรรมที่ตนสวมบทบาทที่ตนเล่นอยู่ เช่น Grand Theft Auto 3 ซึ่งผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นโจรขโมยรถ สามารถทำกิจกรรมต่างๆที่ล้วนแต่เป็นการฝ่าผืนกฎหมายและศีลธรรมได้โดยชอบธรรม ความสนุกสนานก็จะเพิ่มขึ้นตามระดับความเลวที่กระทำ เป็นต้น ในขณะเดียวกันการเล่นเกมก็ส่งผลกระทบภายนอก ทำให้ผู้เล่นเกิดอาการติดเกม ใช้เวลาส่วนใหญ่กับเกม ขาดการพัฒนาในเชิงสังคม หากเป็นเด็กก็จะทำให้เสียการเรียน ในปัจจุบัน เกมคอมพิวเตอร์มีทั้งแบบออนไลน์ และแบบไม่ออนไลน์ ซึ่งในขณะนี้ภาครัฐได้มีการตรวจสอบเนื้อหาของเกมเฉพาะเกมที่เป็นแบบออนไลน์ ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก เช่น Ragnarok หรือ Dragon Raja เป็นต้น แต่เรากำลังลืมไปว่าในบรรดาเกมคอมพิวเตอร์ทั้งหลายนั้น เกมคอมพิวเตอร์แบบออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ถูกนำเข้ามาโดยบริษัทที่มีประกอบการอย่างชัดแจ้ง สามารถถูกตรวจสอบและถูกควบคุมในเนื้อหาของการประกอบการได้อย่างชัดเจนโดยภาครัฐและภาคเอกชน แต่บรรดาเกมคอมพิวเตอร์อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ขายอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์ และแอบขายในตลาดมืด ที่มีเนื้อหาที่สามารถโน้มนำให้เกิดพฤติกรรมในเชิงลบ กลับยังไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงเท่าที่ควร ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มีความเป็น ”ภัย” มากกว่าเกมออนไลน์